การสืบทรัพย์บังคับคดี ตามคำพิพากษา
การสืบทรัพย์บังคับคดี ตามคำพิพากษา คือ การค้นหาทรัพย์สินที่เป็นของลูกหนี้ คู่สมรส และบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้ ทั้งทรัพย์สินที่เป็น สังหาริมทรัพย์ เช่น รถยนต์ อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน เป็นต้น และ อสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน อาคาร สิ่งปลูกสร้างต่างๆ ตลอดจน บัญชีเงินฝากธนาคาร และดำเนินการบังคับคดีเพื่อให้ลูกหนี้ได้รับการชำระหนี้ตามคำพิพากษา ปกติเมื่อศาลทำการพิจารณาคดี พิพากษาว่า จำเลยมีความผิดตามฟ้องของโจทก์ และมีคำสั่งให้จำเลยชำระหนี้แก่โจทก์นั้น ไม่ได้หมายความว่าเจ้าหนี้จะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ได้โดยง่าน เพราะลูกหนี้บางคนอาจยังไม่ยินยอมชำระหนี้ เจ้าหนี้จึงมีหน้าที่ต้องดำเนินการบังคับคดีลูกหนี้ให้ชำระ หนี้ตามคำพิพากษา ซึ่งการบังคับคดีตามประมวลกฎหมายวิธีพิจารณาความแพ่ง ได้กำหนดให้โจทก์ซึ่งเป็นผู้ชนะคดีตามคำพิพากษาต้องปฏิบัติตามกฎหมายเสียก่อน จึงจะมีอำนาจนำเจ้าพนักงานบังคับคดีออกอายัดทรัพย์ ยึดทรัพย์ของลูกหนี้ หรือขับไล่แล้วแต่กรณีไป การสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้นั้นเป็นหน้าที่ของเจ้าหนี้ ไม่หน้าที่ของเจ้าพนักงานบังคับคดี และไม่ใช่เรื่องง่ายที่จะทำการสืบหาทรัพย์สินของลูกหนี้ เพราะไม่มีลูกหนี้รายใดที่จะยินยอมบอกเจ้าหนี้ว่าตนเองมีทรัพย์สินอะไรอยู่บ้าง เพื่อให้เจ้าพนักงานบังคับคดีมายึดทรัพย์
ขั้นตอนในการ สืบทรัพย์ บังคับคดี ตามคำพิพาษา
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาในบัญชีที่เป็นชื่อลูกหนี้ (รวมทั้งกรณีที่ลูกหนี้ใช้ชื่อคนอื่นในการเปิดบัญชีธนาคารแทนชื่อตนเอง) ตามบัญชีเงินฝากธนาคารต่างๆ หรือลูกหนี้มีการลงทุนหุ้นในตลาดหลักทรัพย์ หุ้นกู้ ทองคำ พันธบัตรรัฐบาล มีการลงทุนในกองทุนต่างๆ ของสถาบันการเงิน หรือมีการซื้อสลากออมสินหรือไม่
สืบทรัพย์ เพื่อหาว่าลูกหนี้มีเงินเดือนหรือผลตอบแทนอื่นใดจากการประกอบอาชีพหรือการทำงานหรือไม่
สืบทรัพย์ เพื่อหาทรัพย์สินที่เป็นสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ เช่น รถยนต์ , สิ่งของเครื่องใช้ภายในที่พักอาศัย อุปกรณ์เครื่องใช้สำนักงาน หรือเครื่องจักรในโรงงาน เป็นต้น
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาทรัพย์สินที่เป็นอสังหาริมทรัพย์ซึ่งเป็นกรรมสิทธิ์ของลูกหนี้ เช่น ที่ดิน บ้าน คอนโดมิเนียม ร้านค้า อาคาร สำนักงาน โรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาว่าลูกหนี้มีการประกอบธุรกิจ หรือเป็นหุ้นส่วนร่วมลงทุนในบริษัท ห้างร้าน หรือการประกอบกิจการอื่นใดอีกหรือไม่
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาว่าลูกหนี้มีกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาหรือไม่ เช่น เป็นเจ้าของลิขสิทธิ์ , สิทธิบัตร , เครื่องหมายการค้าหรือไม่ เป็นต้น
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาว่าลูกหนี้มีสิทธิที่จะได้รับการชำระหนี้จากลูกหนี้ของลูกหนี้ตามกฎหมายหรือไม่ เช่น ลูกหนี้เป็นเจ้าหนี้ของบุคคลอื่นที่ต้องชำระเงินแก่ลูกหนี้หรือไม่ ลูกหนี้มีสิทธิได้รับค่าจ้าง หรือรับค่าเช่า สัญญาซื้อขายที่ลูกหนี้มีสิทธิ์ได้รับเงินตามสัญญา เพื่อทนายความจะได้ดำเนินการใช้สิทธิเรียกร้องจากลูกหนี้ตามกฎหมายต่อไป
สืบทรัพย์ เพื่อสืบหาทรัพย์สินที่ลูกหนี้ได้จำหน่าย จ่าย หรือโอนทรัพย์สินให้กับบุคคลอื่นในระหว่างที่เป็นหนี้เจ้าหนี้หรือไม่ หรือมีการทำสัญญาในลักษณะที่เป็นนิติกรรมอำพราง เช่น แกล้งว่าตนเองเป็นหนี้เงินกู้บุคคลอื่นอีกโดยการทำสัญญาเงินกู้ขึ้นมาใหม่อีกโดยที่ตนเองไม่ได้เป็นหนี้จำนวนนั้นแต่อย่างใด ทั้งนี้ทนายความจะได้ดำเนินการฟ้องเพิกถอนนิติกรรมดังกล่าวที่ลูกหนี้ได้กระทำขึ้นเพื่อเจตนาไม่ให้เจ้าหนี้ได้รับการชำระหนี้ หรือฟ้องลูกหนี้ในข้อหาโกงเจ้าหนี้ต่อไป ซึ่งทนายความจะการดำเนินการสืบทรัพย์ข้างต้น ทั้งในส่วนของสามี หรือภรรยาที่ถูกต้องตามกฎหมาย และรวมถึงบุตรที่ยังไม่บรรลุนิติภาวะของลูกหนี้ด้วย หากทรัพย์ที่ต้องการจะยึดอยู่นอกเขตอำนาจศาลที่ฟ้องคดี ต้องทำการตั้งเรื่องยึดทรัพย์ข้ามเขตยังสำนักงานบังคับคดีพื้นที่ที่อยู่ในเขตอำนาจของศาลนั้น
- ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สืบทรัพย์พบเป็นเงินสดซึ่งอยู่ในบัญชีเงินฝากธนาคาร ไม่ว่าจะเป็นบัญชีประเภทใด ทนายความจะแจ้งรายละเอียดของบัญชีนั้นๆ ให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ จากนั้น เจ้าพนักงานบังคับคดีจะทำการอายัดเงินในบัญชีดังกล่าว โดยการส่งหนังสือแจ้งการอายัดไปยังธนาคารที่ลูกหนี้ได้เปิดบัญชีเอาไว้นั้นเพื่อให้ธนาคารนำส่งเงินให้กับเจ้าพนักงานบังคับคดี เพื่อเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้แจ้งให้เจ้าหนี้มารับเงินดังกล่าวต่อไป ซึ่งกรณีนี้เจ้าหนี้จะได้รับเงินเร็วที่สุด
- ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สืบทรัพย์พบเป็นสังหาริมทรัพย์ประเภทต่างๆ เช่น รถยนต์ , อุปกรณ์หรือเครื่องมือเครื่องใช้ภายในบ้านพัก , เครื่องจักรในโรงงาน, สินค้านี้ที่ผลิตเสร็จแล้ว หรือ อุปกรณ์เครื่องมือเครื่องใช้ในสำนักงาน เป็นต้น ทนายความจะทำการนัดหมายกับเจ้าพนักงานบังคับคดี แล้วนำเจ้าพนักงานบังคับคดีออกไปทำการตรวจยึดทรัพย์สินดังกล่าวตามสถานที่ที่พบ เพื่อนำทรัพย์สินดังกล่าวออกขายทอดตลาด และนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
- ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สืบทรัพย์พบเป็นอสังหาริมทรัพย์ เช่น ที่ดิน , บ้าน , คอนโดมิเนียม , อาคารสำนักงาน หรือโรงงานอุตสาหกรรม เป็นต้น ทนายความจะทำการคัดถ่ายสำเนาเอกสารแสดงกรรมสิทธิ์ในอสังหาริมทรัพย์เหล่านั้นจากสำนักงานที่ดินที่อสังหาริมทรัพย์นั้นๆ ตั้งอยู่พร้อมกับรับรองสำเนา ทำแผนที่ ถ่ายรูป และทำราคาประเมิน เบื้องต้น เพื่อนำมาทำการตั้งเรื่องยึดทรัพย์ต่อเจ้าพนักงานบังคับคดี ซึ่งเจ้าพนักงานบังคับคดีจะได้ทำเรื่องยึดทรัพย์แจ้งไปยังนายทะเบียนของอสังหาริมทรัพย์นั้นๆ และแจ้งลูกหนี้หรือผู้มีส่วนได้เสียทราบตามกฎหมายและทำการประเมินราคา แล้วนำอสังหาริมทรัพย์นั้นออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไป
- ทรัพย์สินของลูกหนี้ที่สืบทรัพย์พบเป็นทรัพย์สินประเภทอื่น เช่น การประกอบธุรกิจ บริษัท ห้างหุ้นส่วน ร้านค้า หุ้น หรือหลักทรัพย์ในตลาดหลักทรัพย์ สิทธิความเป็นเจ้าของกรรมสิทธิ์ในทรัพย์สินทางปัญญาประเภทต่างๆ ทนายความจะแจ้งรายละเอียดของทรัพย์สินเหล่านั้นให้เจ้าพนักงานบังคับคดีทราบ เพื่อทำการอายัดและยึดทรัพย์ เพื่อนำเอาทรัพย์สินเหล่านั้น ออกขายทอดตลาด เพื่อนำเงินที่ได้จากการขายทอดตลาดมาชำระหนี้ให้แก่เจ้าหนี้ต่อไปภายใน 15 วัน
เมื่อแจ้งการยึดไปยังลูกหนี้และผู้มีส่วนได้เสียแล้ว เจ้าพนักงานจะดำเนินการ รายงานศาลขอนำทรัพย์สินออกขายทอดตลาด
ขั้นตอนการประกาศขายทอดตลาด
1 จัดทำประกาศขาย ระบุ รายละเอียดทรัพย์ ราคาประเมิน วัน เวลา สถานที่ขาย พร้อมข้อสังเกต คำเตือน เงื่อนไข
2 ส่งประกาศขายให้ผู้มีส่วนได้เสีย
3 ปิดประกาศขายไว้โดยเปิดเผย
ขั้นตอนการขายทอดตลาด
1 ไม่มีผู้เสนอราคา ให้งดขาย
2 มีผู้เสนอราคาสูงสุดและเป็นราคาที่สมควรขาย ไม่มีผู้คัดค้านราคา ให้เคาะไม้ขาย
3 มีผู้คัดค้านราคา เลื่อนการขายไปนัดหน้า ผู้เสนอราคาสูงสุดผูกพันกับการเสนอราคา 30 วัน
4 กำหนดขายนัดต่อไป เคาะไม้ขายให้แก่ผู้เสนอราคาสูงสุด
การชำระราคาค่าซื้อทรัพย์
» สังหาริมทรัพย์ ชำระเงินสดทันที
» อสังหาริมทรัพย์ เงินที่วางเป็นหลักประกันเป็นเงินมัดจำเงินที่เหลือชำระภายใน 15 วัน มีเหตุจำเป็นขอขยายเวลาวางเงินได้ 3 เดือน
การอายัดทรัพย์สิน
สิทธิเรียกร้องที่อายัดได้
1 เงินเดือน ค่าจ้าง เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา
2 โบนัส
3 เงินตอบแทน กรณีออกจากงาน
4 เงินฝากในบัญชีธนาคาร สถาบันการเงิน
5 เงินปันผลหุ้น
6 ค่าเช่าบ้าน ค่าเช่าทรัพย์สิน ค่างวดงานตามสัญญาจ้างงาน ฯลฯ
การอายัดเงินลูกหนี้ รายละเอียดดังนี้
1 เงินเดือน ค่าจ้าง ไม่เกิน 30 % ในส่วนที่เกิน 20,000 บาท
2 โบนัส ไม่เกิน 50%
3 เบี้ยขยัน ค่าล่วงเวลา ไม่เกิน 30%
4 เงินตอบแทนกรณีออกจากงาน 100% ในส่วนที่เกินกว่า 300,000 บาท
เตรียมเอกสารประกอบการอายัด ดังนี้
1 สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชนของโจทก์ สำเนาหนังสือรับรองนิติบุคคลของ รับรองไม่เกิน 1 เดือน
2 หนังสือมอบอำนาจ (ถ้ามี)
3 หลักฐานแห่งสิทธิเรียกร้องหรือสำเนาเอกสารที่มีข้อความระบุถึงความมีอยู่ของเงิน
4 สำเนาทะเบียนบ้าน สำเนาบัตรประจำตัวประชาชน หรือหนังสือรับรองนิติบุคคลของบุคคลภายนอกผู้รับคำสั่งอายัด นายทะเบียนรับรองไม่เกิน 1 เดือน
5 สำเนาคำฟ้องและสำเนาทะเบียนบ้านของจำเลยในชั้นฟ้อง
6 เอกสารอื่นๆ ตามที่เจ้าพนักงานบังคับคดีกำหนด
การพิจารณาลดอายัดเงินเดือน
1 ลูกหนี้ขอลดการอายัด ส่งหนังสือรับรองเงินเดือน หลักฐานความจำเป็น
2 เจ้าพนักงานพิจารณาลดอายัดเงินได้ ไม่เกินกึ่งหนึ่ง
3 เจ้าหนี้ ลูกหนี้ ไม่เห็นชอบ ให้ร้องต่อศาลเพื่อกำหนดจำนวนเงินที่อายัดใหม่
อ่านบทความน่าสนใจถัดไป เส้นทางการเป็น ยอดนักสืบ มืออาชีพ